หน้าเว็บ

สถิติผู้เข้าชม

วันเสาร์ที่ 23 มิถุนายน พ.ศ. 2555

วิวัฒนาการดนตรีไทยสมัยอยุธยา




ดนตรีไทยสมัยอยุธยา

  
          เรื่องของศิลปะโดยเฉพาะการดนตรีจะเจริญรุ่งเรืองก้าวหน้า ก็ในเวลาที่ บ้านเมืองมีความสงบสุข ประชาชนพลเมืองอยู่ดีกินดีปราศจากศึกสงคราม แต่ว่าตั้งแต่สมัยที่อาณาจักรสุโขทัยได้มารวมกับอยุธยานี้ บ้านเมืองก็มีศึกสงครามภายนอกและสงครามภายในมีอยู่เสมอ เพราะฉะนั้นการดนตรีต่างๆ จึงมิได้เจริญก้าวหน้าขึ้นกว่าเดิม สิ่งที่มีอยู่เดิมอย่างไร และที่รับมาจากสุโขทัยอย่างไรก็คงสภาพเช่นเดิมนั้น แม้แต่วงปี่พาทย์เครื่องห้าก็คงมีเครื่องดนตรีอยู่เท่าเดิม คือ ปี่ใน ฆ้องวง ตะโพน กลองทัดลูกเดียว และฉิ่ง การที่ปี่พาทย์เครื่องห้ามีอยู่เพียงเท่านี้ โดยไม่มีระนาดนั้นได้ใช้กันมาตลอด ไม่ว่าจะเป็นการบรรเลงประกอบโขน ละครหรืองานพิธีใดๆ และปรากฏว่าใช้กันมาถึงสมัยแผ่นดินสมเด็จพระนารายณ์มหาราช ดังได้ปรากฏตามจดหมายเหตุของ มองซิเออร์ เดอ ลา ลูแบร์ เอกอัครราชทูตพิเศษของพระเจ้าหลุยส์ที่ ๑๔ พระเจ้ากรุงฝรั่งเศส ผู้เข้ามาทูลเกล้าฯ ถวายพระราชสาส์นในกรุงสยามที่บันทึกไว้เมื่อพุทธศักราช ๒๒๓๑ ในจดหมายเหตุนี้ ลาลูแบร์ได้บันทึกไว้อย่างละเอียดลออว่า เครื่องบรรเลงในวงดนตรีมีอะไรบ้าง รูปร่างเป็นอย่างไร (ในสายตาฝรั่ง) ก็บันทึกไว้อย่างเรียบร้อย แต่ก็ไม่ปรากฏมีระนาดอยู่ในวงเลย จะว่าลาลูแบร์ไม่เห็นก็คงจะเป็นไปไม่ได้ เพราะว่าระนาดนั้นไม่ใช่ของเล็ก และการตั้งวงปี่พาทย์ระนาดจะต้องตั้งข้างหน้าวงเสมอ เมื่อลาลูแบร์ไม่ได้บันทึกเรื่องระนาดลงไว้จึงเชื่อได้ว่า วงปี่พาทย์สมัยนั้นคงจะยังไม่มีระนาดเป็นแน่ แม้คำพากย์ไหว้ครูหนังใหญ่ของเก่าที่เรียกกันว่า “พากย์สามตระ”



          คำพากย์สามตระทั้งสองบทนี้ไม่มีระนาดทั้งนั้น หลักฐานที่จะอ้างอีกอย่างหนึ่งที่ว่าไม่มีระนาดก็คือ ภาพวงดนตรีบนลายตู้ไม้จำหลักเรื่องวิธูรชาดก สมัยอยุธยา ซึ่งเวลานี้อยู่ในพิพิธภัณฑสถานแห่งชาติพระนคร ภาพวงดนตรีภาพนี้ก็มี แต่ฆ้องวงไม่มีระนาด วงปี่พาทย์เครื่องห้าเพิ่งจะมามีระนาดเอาก็คงจะตอนปลายสมัยอยุธยา ซึ่งไทยเราจะคิดขึ้นเองหรือว่าได้แบบมาจากมอญก็ไม่ทราบ แต่ถึงแม้มีระนาดเพิ่มขึ้นอีกอย่างหนึ่งก็ยังคงเรียกว่า ปี่พาทย์เครื่องห้าอยู่เช่นเดิม เพราะเห็นว่าฉิ่งเป็นเครื่องประกอบจังหวะที่เล็ก จึงไม่นับ หรือว่ายังจะนับถือคำว่า “ห้า” ซึ่งมาจาก “ปัญจดุริยางค์” ของอินเดียซึ่งเป็นต้นกำเนิดก็ได้

มโหรี 



          ในสมัยอยุธยาได้มีวงดนตรีเกิดขึ้นอีกวงหนึ่ง คือ วงดนตรีที่ในสมัยปัจจุบันเราเรียกว่า “มโหรี” วงมโหรีเป็นวงดนตรีที่ผู้หญิงเป็นผู้บรรเลง สำหรับขับกล่อมถวายพระมหากษัตริย์ให้ทรงพระสำราญ วงมโหรีครั้งแรกมีผู้บรรเลงเพียง ๔ คน เท่านั้น คือ คนดีดพิณที่เรียกว่ากระจับปี่คนหนึ่ง สีซอสามสายคนหนึ่ง ตีทับ (คือโทน) คนหนึ่ง กับคนร้องตีกรับพวงด้วยคนหนึ่ง ต่อมาจึงได้เพิ่มคนบรรเลงและเครื่องดนตรีขึ้นอีก ๒ อย่าง คือ รำมะนาให้ตีคู่กับโทนคนหนึ่ง กับคนเป่าขลุ่ยอีกคนหนึ่ง วงมโหรีตอนนี้ จึงมีอยู่ ๖ คน ภายหลังจึงได้เพิ่มฉิ่งขึ้นอีกอย่างหนึ่ง คงจะให้คนร้องตีแทนกรับ 
          สมัยต่อมาได้นำเอาจะเข้าซึ่งเป็นเครื่องดนตรีของมอญเข้ากับประสมแทน กระจับปี่เพราะเป็นสิ่งที่บรรเลงทำนองได้ละเอียดลออกว่า เสียงก็ไพเราะกว่า และเป็นสิ่งที่วางกับพื้นราบดีดได้ถนัดกว่ากระจับปี่ วงมโหรีได้เป็นมาดังนี้ตลอดสมัยอยุธยา








วง มโหรีโบราณ เครื่องสี่






วงมโหรีโบราณเครื่องหก
วงมโหรีโบราณเครื่องหก



วงเครื่องสาย


      เครื่องดนตรีจำพวกเครื่องสายนั้นในสมัยอยุธยา ได้มีอยู่แล้วหลายอย่าง สมัยอยุธยาคงจะมีผู้เล่นดนตรีจำพวกซอ ขลุ่ย อยู่เป็นอันมาก และอาจจะเล่นกันอย่างแพร่หลายจนความสนุกสนานเพลิดเพลินนั้น ทำให้เล่นกันเกินขอบเขตเข้าไปจนถึงใกล้พระราชฐาน จึงถึงกับมีบทบัญญัติกำหนดโทษไว้ในกฎมณเฑียรบาลในตอนหนึ่ง


   

          เครื่อง ดนตรีต่างๆ ที่ได้ระบุมาในกฎมณเฑียรบาลนี้ นอกจากปี่ซึ่งอยู่ในวงปี่พาทย์และกระจับปี่ในวงมโหรีแล้ว ก็ล้วนแต่เป็นสิ่งที่อยู่ในวงเครื่องสายทั้งสิ้น คือ มีซอ ขลุ่ย จะเข้ และโทนทับ ส่วนซอนั้นจะเป็นซอสามสายอย่างวงมโหรี หรือจะเป็นซอด้วงซออู้อย่างที่เราบรรเลงผสมอยู่ในวงเครื่องสายก็ไม่ทราบได้ แต่เท่าที่พิจารณาตามสภาพการณ์ซึ่งเล่นกันมากมายแพร่หลายถึงต้องบัญญัติไว้ เป็นกฎหมายห้ามกันอย่างนี้ คงต้องเป็นของที่ค่อนข้างจะเล่นง่ายและหาง่าย จึงเข้าใจว่าซอที่ระบุในกฏมณเฑียรบาลนี้จะเป็นซอด้วงซออู้ ที่บัญญัติไว้ว่า “ซอ” เฉย ๆ ก็เพื่อให้คลุมไปถึงซอสามสายและซออื่นๆที่จะมีผู้คิดสร้างเลี่ยงกฎหมายในภาย หลังด้วยถ้าเป็นอย่างนี้วงเครื่องสายไทยในสมัยอยุธยาก็มีพร้อมบริบูรณ์อยู่ แล้ว คือ มีซอด้วง ซออู้ จะเข้ ขลุ่ยเป็นเครื่องบรรเลงทำนอง โทน ทับ และฉิ่งเป็นเครื่องบรรเลงประกอบจังหวะ ส่วนขลุ่ยก็คงจะมีแต่ขลุ่ยเลาขนาดกลาง ซึ่งเราเรียกกันในสมัยนี้ว่า “ขลุ่ยเพียงออ” เลาเดียว “ขลุ่ยหลิบ” คือขลุ่ยขนาดเล็กมีเสียงสูงนั้นยังไม่มี แต่ “โทนทับ” นั้นเป็นการเรียกทับศัพท์ เพราะทับคือโทน โทนก็คือทับ จึงเห็นได้ว่าเวลานั้นเครื่องกำกับจังหวะมีแต่โทนคือทับอย่างเดียว ยังไม่มีรำมะนามาผสม ส่วนชื่อวงที่มีเครื่องสายผสมนี้คงจะไม่เรียกว่า วงเครื่องสาย แต่อาจจะเรียกว่า “ดนตรี” ก็ได้ เพราะในกฎมณเฑียรบาลนั่นเองแยกเรียกมโหรีกับดนตรีเป็นคนละอย่าง กฎมณเฑียรบาลที่ว่านั้นคือ ตอนซึ่งว่าด้วยการพิธีตรองเปรียงที่กำหนดเรือต่างๆ มีอยู่ตอนหนึ่งว่า

“เรือปลาลูกขุนเฝ้า น่าเรือเบญจา เรือจะเข้แนมทั้งสองข้าง ซ้ายดนตรี ขวามโหรีฯ”




Image      Image



          คำว่า “ดนตรี” ในที่นี้ย่อมเหมาะที่จะเรียกชื่อวงเครื่องสายยิ่งกว่าวงอื่นใด เพราะคำว่า “ดนตรี” ก็แปลตรงอยู่ว่า “ผู้มีสาย” 
          เท่าที่ได้รวบรวมกล่าวมาแล้ว ย่อมเป็นที่แน่นอนว่า ในสมัยอยุธยานั้นมีเครื่องดนตรีครบทั้ง ๓ ประเภท คือ ปี่พาทย์ มโหรี และเครื่องสาย

ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น